“การบริหาร” ตามความหมายทางวิชาการ [1] หมายถึง การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยอาศัยองค์ประกอบหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการบริหาร และวิธีการปฏิบัติงาน
ตลอดจนหมายถึงการทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปโดยอาศัยบุคคลอื่น ๆ องค์ประกอบหรือปัจจัยที่จำเป็นต่อการบริหารนั้น ในขั้นแรกมีอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ คน (Man) เงิน (Money) วัตถุสิ่งของ (Material) และวิธีการปฏิบัติงาน (Method) ที่เรียกว่า 4 M แต่ต่อมาได้มีการ เพิ่มองค์ประกอบเข้ามาอีกหลายประการ เช่น อำนาจ หน้าที่ เวลา ความตั้งใจในการทำงาน และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ดังนั้น ในปัจจุบันองค์ประกอบหรือปัจจัยที่จำเป็นต่อการบริหารจึงมีอยู่ 7 ประการด้วยกัน คือ คน เงิน วัตถุสิ่งของ อำนาจหน้าที่ เวลา ความตั้งใจในการทำงาน และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งอาจถือว่าเป็นปัจจัยเหตุหรือสิ่งที่ใช้ไป (Input) ในการบริหารงานแต่ละอย่าง
จากความหมายของดังกล่าว จะเห็นว่าการบริหารมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ (1) การบริหารงานจะต้องมีวัตถุประสงค์ (2) การบริหารงานจะต้องมีองค์ประกอบหรือปัจจัยต่าง ๆ เช่น คน เงิน วัตถุสิ่งของ เป็นต้น เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน และ (3) การบริหารมีลักษณะเป็นการดำเนินงาน ที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง
การบริหารมีลักษณะเป็นการดำเนินงาน ที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวไว้มากมายหลายอย่าง [2] ซึ่งนำมาสรุปพอเป็นที่เข้าใจว่า
การบริหารงานที่ดีควรจะประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญ 9 ประการ คือ นโยบาย (Policy) อำนาจหน้าที่ (Authority) การวางแผน (Planning) การจัด รูปงาน (Organizing) การดำเนินการเกี่ยวกับบุคลากร (Staffing) การอำนวยการ (Directing) การประสานงาน (Co-ordination) การรายงาน (Reporting) และการงบประมาณ (Budgeting) หรือที่รวมเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้โดยย่อว่า PA-POSDCoRB
ซึ่งขออธิบายแต่ละข้อโดยย่อดังนี้
นโยบาย (Policy) หมายถึง นโยบายที่จะใช้ในการบริหารงาน ตลอดจนวิธีการกำหนดนโยบายดังกล่าวนั้นด้วย
อำนาจหน้าที่ (Authority) หมายถึง อำนาจหน้าที่ของแต่ละระบบงาน ตลอดจนการมอบหมายอำนาจหน้าที่ในระบบงานเหล่านี้ด้วย
การวางแผน (Planning) หมายถึง การวางแผนที่จะดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ เพื่อให้แผนงานที่กำหนดขึ้นสอดคล้องต้องกับนโยบาย การที่จะได้แผนงานที่ถูกต้อง จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการวางแผนและการคาดหรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคตด้วย
การจัดรูปงาน (Organizing) หมายถึง การจัดรูปงานของระบบงานต่าง ๆ ในการจัดรูปงานนี้สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบด้วยก็คือ วิธีการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดรูปงานและวิธีการปฏิบัติงานมีความสอดคล้องต้องการ ในการจัดรูปงานดังกล่าวนี้อาจมีการพิจารณาในด้านการควบคุมการปฏิบัติงานหรือในด้านของการแบ่งงาน เช่น หน่วยงานหลัก (line) หน่วยงานที่ปรึกษา (Staff) และหน่วยงานสนับสนุน (Auxiliary)
การดำเนินการเกี่ยวกับบุคลากร (Staffing) หมายถึง การจัดหาบุคคลที่มีความรู้และความสามารถมาบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในหน่วยงาน และอาจครอบคลุมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินการกับบุคลากร เช่น การสรรหาบุคคล การบรรจุและแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การกำหนดค่าตอบแทน การให้พ้นจากงาน หรือการเลิกจ้าง และการให้บำเหน็จบำนาญ
การอำนวยการ (Directing) หมายถึง การอำนวยการซึ่งรวมถึงการควบคุมงานและการนิเทศงาน ตลอดจนถึงศิลปะในการบริหารงาน เช่น ความเป็นผู้นำ (Leadership) มนุษยสัมพันธ์ และการจูงใจ นอกจากนี้ การอำนวยการยังหมายรวมถึงการวินิจฉัยสั่งการ และการมอบอำนาจหน้าที่อันเป็นหลักสำคัญยิ่งในการบริหารด้วย
การประสานงาน (Co-ordination) หมายถึง การประสานงานเพื่อให้งานดำเนินไปโดยสะดวกและเรียบร้อย และเพื่อที่จะให้การประสานงานดีขึ้น ตลอดจนแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ นักบริหารจำเป็นต้องศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการประสานงานแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังจะต้องจัดให้มีระบบการประสานงานที่ดีในหน่วยงานของตนและกับหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย
สิ่งที่จะช่วยให้การประสานงานดำเนินไปด้วยดีก็คือ การติดต่อสื่อสารที่ดี
การรายงาน (Reporting) หมายถึง การรายงานผลการปฏิบัติงาน ตลอดถึงการประชาสัมพันธ์ผลงานด้วย กิจกรรมทั้งหมดนี้มีส่วนสัมพันธ์ต่อเนื่องกับการติดต่อสื่อสารเป็นอันมาก
การงบประมาณ (Budgeting) หมายถึง การงบประมาณและการจัดงบประมาณ
ซึ่งเป็นกระบวนการสุดท้ายของการบริหารงานที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นักบริหารจะต้องมีความรู้และความเข้าใจระบบงบประมาณกระบวนการในการจัดงบประมาณและการเงิน และการใช้วิธีงบประมาณเป็นเครื่องมือในการวางแผนและควบคุมงานด้วย
จะเห็นได้ว่า การบริหารราชการจะต้องอาศัยองค์ประกอบหรือปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเรียกว่าปัจจัยเหตุ (Input) หรือสิ่งที่จะใช้ไปในการบริหารงานและจะต้องมีกระบวนการบริหาร (process) เพื่อใช้ปัจจัยเหตุ และเมื่อกระบวนการต่าง ๆ ดำเนินการไปแล้ว ก็จะได้ผลผลิตหรือสิ่งที่ได้ออกมา (Output)
----------------------------------
(1) ชุบ กาญจนประกร หลักรัฐประศาสนศาสตร์ เอกสารประกอบคำบรรยาย 2506 (โรเนียว) น.10-12 และสมาน รังสิโยกฤษฎ์ และสุธี สุทธิสมบูรณ์ หลักการบริหารเบื้องต้น (พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพมหานคร สำนักงานสวัสดิการ ก.พ.2523) น.1-5
[2] ดู John M.Pfifner.and Robert Presthus.Public Administration. 5th ed.(New York: The Ronald Press Company, 1967); ชุบ กาญจนประกร หลักรัฐประศาสนศาสตร์ คำบรรยายชั้นปริญญาโท (คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2506) และสมพงษ์ เกษมสิน การบริหาร (พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร ไทยวัฒนาพานิช 2514) น.20-25
No comments:
Post a Comment